: พิธีทางพุทธศาสนา

วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

พิธีอุปสมบท

พิธีบวช
การเตรียมตัวบวช
ผู้จะบวชเรียกว่า อุปสัมปทาเปกข์ หรือ นาค
ผู้ที่จะบวชให้ไปติดต่อวัดที่ต้องการบวช จะได้รับใบสมัครขอบรรพชา พระท่านจะตั้งชื่อทางธรรม และมอบบทขานนาคให้กลับไปฝึกซ้อมท่อง ซึ่งต้องท่องให้คล่องเพื่อใช้ในพิธี โดยต้องฝึกซ้อมกับพระอาจารย์ให้คล่องก่อนทำพิธีบวชเพื่อจะได้ไม่เคอะเขิน นอกจากนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องคิด ต้องเตรียมตัว และทำเมื่อคิดจะบวชดังต่อไปนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะต้องทำทั้งหมดเพราะว่าทั้งนี้ให้คำนึงถึงความเหมาะสม และกำลังทรัพย์ด้วย ขั้นตอนบางอย่างไม่จำเป็นต้องมีก็ได้


เครื่องอัฏฐบริขารและเครื่องใช้อื่นๆ ที่ควรมีหรือจำเป็นต้องใช้ได้แก่
๑.ไตรครอง ได้แก่ สบง ๑ ประคตเอว ๑ อังสะ ๑ จีวร ๑ สังฆาฏิ ๑ ผ้ารัดอก ๑ ผ้ากราบ ๑
๒.บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา ถลกบาตร สายโยค ถุง ตะเคียว
๓.มีดโกน พร้อมทั้งหินลับมีดโกน
๔.เข็มเย็บผ้า พร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย
๕.เครื่องกรองน้ำ (ธมกรก)
๖.เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง
๗.จีวร สบง อังสะ ผ้าอาบ ๒ ผืน (อาศัย)
๘.ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า
๙.โคมไฟฟ้า หรือตะเกียง ไฟฉาย นาฬิกาปลุก
๑๐.สำรับ ปิ่นโต คาว หวาน จานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ
๑๑.ที่ต้มน้ำ กาต้มน้ำ กาชงน้ำร้อน ถ้วยน้ำร้อน เหยือกน้ำและแก้วน้ำเย็น กระติกน้ำแข็ง กระติกน้ำร้อน
๑๒.กระโถนบ้วน กระโถนถ่าย
๑๓.ขันอาบน้ำ สบู่และกล่องสบู่ แปรงและยาสีฟัน ผ้าขนหนู กระดาษชำระ
๑๔.สันถัต (อาสนะ)

ข้อที่ ๑-๕ เรียกว่าอัฏฐบริขารซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดเสียมิได้ มีความหมายว่า บริขาร ๘ แบ่งเป็นผ้า ๕ อย่างคือ สบง ๑ ประคตเอว ๑ จีวร ๑ สังฆาฏิ ๑ ผ้ากรองน้ำ ๑ และเหล็ก ๓ อย่างคือ บาตร ๑ มีดโกน ๑ เข็มเย็บผ้า ๑ นอกจากนั้นก็แล้วแต่ความจำเป็นในแต่ละแห่งและกำลังทรัพย์


ของที่ต้องเตรียมใช้ในพิธีคือ

๑.ไตรแบ่ง ได้แก่ สบง ๑ ประคตเอว ๑ อังสะ ๑ จีวร ๑ ผ้ารัดอก ๑ ผ้ากราบ ๑
๒.จีวร สบง อังสะ (อาศัยหรือสำรอง) และผ้าอาบ ๒ ผืน
๓.ย่าม ผ้าเช็ดหน้า นาฬิกา
๔.บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา
๕.รองเท้า ร่ม
๖.ที่นอน เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง (อาจอาศัยของวัดก็ได้)
๗.จานข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ปิ่นโต กระโถน
๘.ขันน้ำ สบู่ กล่องสบู่ แปรง ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว
๙.ธูป เทียน ดอกไม้ (ใช้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย)
๑๐.ธูป เทียน ดอกไม้ (มักนิยมใช้แบบต้นเทียนแพรที่มีกรวยดอกไม้ เอาไว้ถวายพระอุปัชฌาย์ผู้ให้บวชและคู่สวด รวม ๓ ต้น )
๑๑.เตรียมเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระอุปัชฌาย์และพระในพิธีนั้นอีกรูปละหนึ่งชุดก็ได้ ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และศรัทธา

คำขอขมาบิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่เพื่อลาบวช
"กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่ข้าพเจ้าได้เคยประมาทล่วงเกินท่านต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ทั้งตั้งใจก็ดี มิได้ตั้งใจก็ดี ขอให้ท่านจงอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้านับแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนตราบเท่านิพพานเทอญ"


การบวชนาคและแห่นาค
การจัดกระบวนแห่ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้ คือ
๑.หัวโต หรือห้วสิงโต (มีหรือไม่ก็ได้)
๒.แตร หรือ เถิดเทิง (มีหรือไม่ก็ได้)
๓.ของถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวด
๔.ไตรครอง ซึ่งมักจะอุ้มโดยมารดาหรือบุพการีของผู้บวช (มีสัปทนกั้น)
๕. ดอกบัว ๓ ดอก ธูป ๓ ดอก เทียน ๒ เล่ม ให้ผู้บวชพนมมือถือไว้ (มีสัปทนกั้น)
๖.บาตร และตาลปัตร จะถือและสะพายโดยบิดาของผู้บวช
๗.ของถวายพระอันดับ
๘.บริขารและเครื่องใช้อย่างอื่นของผู้บวช

เมื่อจัดขบวนเรียบร้อยแล้วก็เคลื่อนขบวนเข้าสู่พระอุโบสถ เวียนขวารอบนอกขันธสีมา จนครบ ๓ รอบ ก่อนจะเข้าโบสถ์ก็ต้องวันทาเสมาหน้าพระอุโบสถเสียก่อนว่า "วันทามิ อาราเม พัทธะเสมายัง โพธิรุกขัง เจติยัง สัพพะ เม โทสัง ขะมะถะ เม ภันเต"
เมื่อเสร็จแล้วก็โปรยทานก่อนเข้าสู่พระอุโบสถโดยให้บิดามารดาจูงติดกันไป อาจจะอุ้มข้ามธรณีประตูไปเลยก็ได้ เสร็จแล้วผู้บวชก็ไปกราบพระประธานด้านข้างพระหัตถ์ขวาขององค์พระ รับไตรครองจากมารดาบิดา จากนั้นจึงเริ่มพิธีการบวช

ขั้นตอนและบทที่ต้องท่องจำ ใช้ในพิธีบวชแบบมหานิกาย (อุกาสะ)

ขั้นตอนและบทที่ต้องท่องจำ ใช้ในพิธีบวชแบบธรรมยุต (เอสาหัง)

ข้อมูล : เว็บพุทธธรรมนำชีวิต

ภาพ : สินค้าจากร้านเจริญพรสังฆภัณฑ์

วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เครื่องสักการะบูชา

เครื่องสักการะบูชา


คำถามเรื่องการจัดวางพานพุ่ม สีเงิน-ทอง ไว้ด้านซ้ายหรือขวานั้น เป็นเรื่องทียังไม่มีข้อสรุป บ้างจัดวางสีทองไว้ด้านขวา แต่บ้างจัดวางข้างซ้าย และบุคคลอื่น ๆ เมื่อเห็นมักจะจัดตาม ๆ ที่ตนเองเคยเห็นผู้อื่นจัดกันมา โดยแท้จริงแล้วพานพุ่ม ไม่ได้มีเพียงแค่ 2 สี โดยแต่เดิมพานพุ่มมัก ทำด้วยดอกไม้สด มีสีสันต่าง ๆ ตาม สีของดอกไม้และมักจะมีสีเหมือนกันเป็นคู่ ต่อมา พานพุ่ม เริ่มมีการพัฒนา ทำเป็นผ้า เป็นโลหะ จึงเริ่มมีพานพุ่ม สีทอง-เงิน อันเป็น จุดเริ่มต้นของ คำถามดังกล่าว โดยสรุป ในความเห็นของผู้เขียน สามารถวางสีเงิน-ทอง วางไว้ด้านไหนก็ได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม


เครื่องทองน้อย
เครื่องทองน้อยนั้นเป็นเครื่องนมัสการอย่างเล็กที่สุด และเป็นเครื่องบูชาอย่างไทยมาแต่เดิม ประกอบด้วยพานรอง ๑ พุ่มดอกไม้ ๓ เชิงธูป ๑ และเชิงเทียน ๑ เป็นเครื่องนมัสการสำหรับบูชาเฉพาะปูชนียวัตถุ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระบรมอัฐิ พระบรมราชานุสาวรีย์ ฯลฯ รวมไปถึงเวลาที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงธรรม ตลอดถึงเวลาให้พระบรมศพหรือพระบรมอัฐิทรงธรรมก็ทรงใช้เครื่องนมัสการชนิดนี้ทอดอยู่หน้าที่ประทับ หรือหน้าพระบรมโกศ เพื่อเป็นเครื่องบูชาธรรมด้วย
เครื่องทองน้อยนี้เป็นเครื่องนมัสการที่บุคคลทั่วไปก็ใช้ได้ เช่น ในเวลาบุคคลธรรมดาฟังพระธรรมเทศนาในงานต่างๆ ที่ตรงหน้าของบุคคลผู้เป็นประธานก็จะมีเครื่องทองน้อยตั้งไว้สำหรับจุดบูชาธรรมเช่นเดียวกับงานหลวง หรือในงานศพ เวลาจะให้ศพฟังธรรม เจ้าภาพก็จะจัดเครื่องทองน้อยไว้หน้าศพเช่นกัน
ธรรมเนียมการตั้งเครื่องทองน้อยนั้นอาจเป็นที่สับสน แต่อาจสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ได้ กล่าวคือ เราจะบูชาอะไร ให้หันพุ่มดอกไม้ไปทางปูชนียวัตถุนั้นๆ เช่น เราจะบูชาศพ เราต้องหันดอกไม้ไปทางศพ ให้หันธูปเทียนมาทางเรา ถ้าจะให้ศพฟังพระอภิธรรมหรือฟังพระธรรมเทศนา ก็ให้หันพุ่มดอกไม้ออก แล้วหันธูปเทียนเข้าทางโกศหรือหีบศพ


บายศรี
บายศรี หมายถึง เครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญ ทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทง เป็นชั้น ๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลำดับ เป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรีและมีไข่ขวัญเสียอยู่บนยอดบายศรี มีหลายอย่าง เช่น บายศรีตอง บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่ ( ภาษาเขมร บาย = ข้าว + ศรี = สิริ หมายความว่า ข้าวอันเป็นสิริหรือข้าวขวัญ )

พานพุ่ม

กรวย และธูปเทียนแพ

ข้อมูลจาก : เว็บ pantip

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ธง



ธงชาติไทยชื่อ ธงไตรรงค์
สัดส่วนธง 2:3
ประกาศใช้ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 (มีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
ลักษณะ ธงสามสีห้าแถบ พื้นแดง-ขาว-น้ำเงิน-ขาว-แดง แถบกลางกว้างเป็น 2 เท่า
ออกแบบโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


ธงชาติไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง ขาว และน้ำเงิน โดยภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ ซึ่งแถบสีน้ำเงินนี้ใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ความหมายสำคัญของธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสามสถาบันหลักของประเทศไทย คือ ชาติ (สีแดง) ศาสนา (สีขาว) และพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน) สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติไทย (ขณะนั้นยังเรียกชื่อประเทศว่าสยาม) เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2460 เพื่อแก้ไขปัญหาการชักธงช้างเผือก (ซึ่งใช้เป็นธงชาติมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4) กลับด้าน และเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับฝ่ายสัมพันธมิตร



ธง ภปร.




ธงพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
พระราชลัญจกร รัชการที่ 9 หมายถึง แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช

พระมหาพิชัยมงกุฎ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร และพระเศวตฉัตร หมายถึงเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์

เลขไทย ๘๐ และเพชร 80 เม็ด หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา แถบแพรสีชมพู หมายถึง สีอายุตามโหราศาสตร์ทักษาพยากรณ์ ตรงกับวันอังคารของพระองค์ และบอกชื่อตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

ดอกพิกุลทอง 5 ดอก ดอกพิกุลเงิน 4 ดอก ที่แท่นแปดเหลี่ยมรองรับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์

(ผู้ออกแบบ - นายสุเมธ พุฒพวง นักวิชาการช่างศิลป์ 7 ว ช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร (เป็นแบบที่12)



ธง สก.




ธงธรรมจักร
ธงพระพุทธศาสนา ที่ใช้ทั่วไปสำหรับในประเทศไทย คือ ธงพระธรรมจักร อันหมายถึง ธรรมะที่นำไปสอนในที่ต่าง ๆ แล้วยังความสันติสุขให้เกิดขึ้นในที่นั้น ๆ ลักษณะธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีเหลืองแก่ (สีกรัก) ตรงกลางเป็นรูปพระธรรมจักรสีแดง
ปกติแล้ว รูปธรรมจักรนั้นมักทำเป็นรูปธรรมจักรประกอบด้วยซี่ล้อหรือกำ 8 ซี่ แต่ละซี่มีความหมายถึงองค์ของอริยมรรคแต่ละองค์ อันมีองค์ 8 วงล้อหมายถึง ทุกข์และสมุทัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนเกิดมาแล้วจะต้องประสบ ดุมที่เป็นศูนย์กลางและสงบนิ่งไม่หมุน หมายถึง จุดหมายสูงสุด คือ นิโรธหรือนิพพาน
จำนวนซี่ล้อหรือกำในพระธรรมจักรนั้น หากมีจำนวนต่างกันออกไป ก็อาจแทนปรัชญาธรรมอื่นๆ ได้ดังนี้
ถ้ามี 12 ซี่ หมายถึง ปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท 12
ถ้ามี 24 ซี่ หมายถึง ปัจจยาการทั้งด้านเกิด 12 และด้านดับ 12
ถ้ามี 31 ซี่ หมายถึง ภูมิ 31(กามภูมิ 11 รูปภูมิ 16 และอรูปภูมิ 4)
สำหรับธงพระธรรมจักรของไทยนั้น นิยมทำรูปพระธรรมจักรให้มีกำ 12 ซี่ ดังภาพที่ปรากฏในหน้านี้
ในพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนาหรือในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชาก็จะมีการประดับธงธรรมจักรตามสถานสำคัญต่าง ๆ เสมอ
ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การทอดผ้าป่า

ประเพณีการทอดผ้าป่า
การทอดผ้าป่า เป็นประเพณีการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของพุทธศาสนิกชน คล้ายกับการทอดกฐิน แต่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจํากัด คือสามารถทำได้ทุกฤดูกาล ไม่จำกัดเวลา คือทำได้ตลอดทั้งปี และวัดหนึ่งๆ ในแต่ละปีจะจัดให้มีการทอดผ้าป่ากี่ครั้งก็ได้เช่นกัน ผู้ปรารถนาจะทำเมื่อไรย่อมทำได้ตามกำลังศรัทธา ซึ่งอาจจะผสมผสานหรือผนวกเข้ากับเทศกาลประเพณีประจำท้องถิ่นอื่นๆ ก็ได้ อีกทั้ง ยังไม่เจาะจงเกี่ยวกับพระภิกษุที่จะรับผ้าป่าแต่อย่างใด

ประวัติความเป็นมา
ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลายรับ คฤหบดีจีวร คือจีวรที่ชาวบ้านถวายโดยเฉพาะ พระภิกษุเหล่านั้นจึงต้องเที่ยวเก็บผ้าบังสุกุลที่เขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าเปรอะเปื้อน ที่ชาวบ้านไม่ต้องการนำมาทิ้งไว้ ผ้าห่อศพ ฯลฯ เมื่อรวบรวมผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยพอแก่ความต้องการแล้ว จึงนำมาซักทำความสะอาด ตัด เย็บ ย้อม เพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง ทั้งนี้ การทำจีวรของพระภิกษุในสมัยพุทธกาล ค่อนข้างยุ่งยากและเป็นงานใหญ่ ดังที่กล่าวไว้แล้วในเรื่องพิธีทอดกฐิน

วันหนึ่ง พระเทพธิดาถวายผ้าแก่พระอนุรุทธเถระ ผู้มีจีวรเก่าแล้วและเที่ยวแสวงหาจีวรในที่ทั้งหลาย มีกองหยากเยื่อเป็นต้น หญิงภรรยาเก่าของพระเถระนั้นในอัตภาพที่ ๓ แต่อัตภาพนี้ได้เกิดเป็นเทพธิดาชื่อ ชาลีนี ในดาวดึงส์ภพ นางชาลินีเทพธิดานั้น เห็นพระเถระเที่ยวแสวงหาท่อนผ้าอยู่ จึงถือผ้าทิพย์ ๓ ผืน ยาว ๑๓ ศอก กว้าง ๔ ศอก แล้วคิดว่า “ถ้าเราจักถวายโดยทำนองนี้ พระเถระจักไม่รับ” จึงวางผ้าไว้บนกองหยากเยื่อแห่งหนึ่งข้างหน้าของพระเถระนั้น ผู้แสวงหาท่อนผ้าทั้งหลายอยู่ โดยอาการที่เพียงชายผ้าเท่านั้นจะปรากฏได้ พระเถระเที่ยวแสวงหาท่อนผ้าอยู่โดยทางนั้น เห็นชายผ้าของท่อนผ้าเหล่านั้นแล้ว จึงจับที่ชายผ้านั้นนั่นแลฉุดมาอยู่ เห็นผ้าทิพย์มีประมาณดังกล่าวแล้ว ถือเอาด้วยคิดว่า “ผ้านี้เป็นผ้าบังสุกุลอย่างอุกฤษฏ์หนอ” ดังนี้แล้วหลีกไป

ต่อมา ครั้นชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาทั้งหลายเห็นความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์ ต้องการจะนำผ้ามาถวาย แต่เมื่อยังไม่มีพุทธานุญาตโดยตรง จึงนำผ้าอันสมควรแก่สมณบริโภค ไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่างๆ เช่น ตามป่า ป่าช้า หรือข้างทางเดิน หรือแขวนไว้ตามกิ่งไม้ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์สะดวกในการแสวงหาผ้าบังสุกุล เมื่อพระภิกษุสงฆ์มาพบ เห็นว่าเป็นผ้าที่ผู้เป็นเจ้าของทอดอาลัยแล้ว ก็นำเอามาทำเป็นผ้าจีวร ด้วยเหตุนี้กระมังจึงเรียกผ้าในลักษณะนี้ว่า “ผ้าป่า” (ผ้าที่ชาวบ้านนำไปทิ้งไว้ที่ป่าช้าหรือผ้าที่ห่อศพอยู่ในป่าช้า)


ครั้นพระพุทธศาสนาแพร่หลายมากขึ้น หมอชีวกโกมารภัจ ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนที่สำคัญและเคร่งครัดมากผู้หนึ่ง ท่านเป็นทั้งหมอหลวงประจำราชสำนักของพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินแห่งมคธรัฐ และเป็นหมอที่เคยถวายการรักษาพระพุทธเจ้าและพระสาวก ครั้งหนึ่ง หลังจากที่รักษาอาการประชวรของพระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี แคว้นอวันตี จนหายเป็นปกติดีแล้ว ได้รับพระราชทานรางวัลเป็นผ้าเนื้อสีทองอย่างดีสองผืน จากแคว้นกาสี ซึ่งเป็นผ้าเนื้อละเอียดมาก คนธรรมดาไม่มีโอกาสได้ใช้ผ้าเช่นนี้นอกจากพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น แต่ท่านหมอคิดว่า ผ้าเนื้อดีอย่างนี้ไม่สมควรที่ตนจะใช้สอย เป็นของสมควรแก่พระบรมศาสดาหรือพระมหากษัตริย์ จึงได้น้อมนำผ้านั้นไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ก่อนที่จะถวายได้กราบทูลขอพรว่า “ขอให้ภิกษุรับคฤหบดีจีวรได้” พระพุทธองค์ประทานอนุญาตให้ตามที่ขอ การที่หมอชีวกโกมารภัจได้พิจารณาเรื่องจีวรของพระภิกษุแล้ว กราบทูลขอพรเช่นนั้น ก็เพราะแต่ก่อนนั้นพระภิกษุใช้สอยแต่ผ้าบังสุกุล จะไม่รับผ้าที่ชาวบ้านถวาย ท่านหมอเห็นความลำบากของพระภิกษุสงฆ์ในเรื่องนี้ จึงกราบทูลขอพร และได้เป็นผู้ถวายเป็นคนแรก
ดังนั้น การนำผ้าไปทอดไว้ในป่าอย่างแต่ก่อน จึงค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นการนำผ้าป่าที่มีลักษณะดีกว่าไปถวายโดยตรง หรือถ้ายังประสงค์จะรักษาประเพณีทอดผ้าป่า หรือประเพณีที่ให้พระภิกษุถือเอาเฉพาะผ้าบังสุกุลไว้ด้วย ก็นำไปทอดไว้ใกล้ๆ สถานที่ที่พระภิกษุอาศัยอยู่ เช่น วัดวาอาราม จนกระทั่งกลายมาเป็นประเพณีนำผ้าสำเร็จรูป เป็นสังฆาฏิ จีวร สบง ผืนใดผืนหนึ่ง หรือทั้งสามผืน ที่เรียกว่าผ้าไตรจีวร พร้อมด้วยเครื่องบริวารไปทอดเป็นการกุศลสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

พิธีการทอดผ้าป่าก็มีความเป็นมาด้วยประการละฉะนี้ สำหรับในเมืองไทย พิธีทอดผ้าป่าได้รับการรื้อฟื้นขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ด้วยทรงพระประสงค์จะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระศาสนา


ผู้ประสงค์จะทอดผ้าป่าจะทำอย่างไร

การจองผ้าป่า
สำหรับการจองผ้าป่านั้น ให้ผู้เป็นเจ้าภาพไปแจ้งความประสงค์แก่เจ้าอาวาส ที่ต้องการจะนำผ้าป่ามาทอด เรียกว่า เป็นการจองผ้าป่า เมื่อกำหนดเวลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการตั้งองค์ผ้าป่า ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะต้องมีก็คือ
๑. ผ้า

๒. กิ่งไม้สำหรับพาดผ้า

๓. ให้อุทิศถวายไม่เจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่ง


การตั้งองค์ผ้าป่า

เจ้าภาพองค์ผ้าป่าจะจัดหาผ้าสำหรับพระภิกษุมาผืนหนึ่ง อาจเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ หรือทั้ง ๓ อย่าง แล้วแต่ศรัทธาเพราะไม่มีข้อกำหนด นำกิ่งไม้หนึ่งกิ่งไปปักไว้ในภาชนะขนาดพอสมควร เช่น โอ่ง กระถัง เป็นต้น เพื่อให้กิ่งไม้อยู่คงที่ไม่เอนไปเอนมา โดยจะใช้เป็นที่พาดผ้าป่า และใช้สำหรับนำสิ่งของเครื่องใช้ที่จะถวายพระ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ผ้าอาบนํ้าฝน สมุด ดินสอ อาหารแห้ง ฯลฯ ใส่ในภาชนะนั้น สำหรับเงินหรือปัจจัยปกตินิยมเสียบไว้กับต้นกิ่งในกองผ้าป่านั้น

ตัวอย่างองค์ผ้าป่า



ในปัจจุบันนิยมใส่ ผ้าที่นำมาขดเป็นรูปตัวชะนี ลงไปในองค์ผ้าป่า




วันงานทอดผ้าป่า

ในสมัยโบราณ ไม่มีต้องจองผ้าป่า เมื่อเจ้าภาพนำองค์ผ้าไปถึงแล้ว ก็จุดประทัดหรือส่งสัญญาณด้วยวิธีหนึ่ง ให้พระท่านรู้ว่ามีผ้าป่า เป็นอันเสร็จพิธี หรือจะอยู่รอให้พระท่านมาชักผ้าป่าด้วยก็ได้ แต่ในปัจจุบัน การทอดผ้าป่านับว่าเป็นงานค่อนข้างใหญ่ ต้องมีการจองผ้าป่าเพื่อแจ้งให้ทางวัด ทราบหมายกำหนดการ จะได้จัดเตรียมการต้อนรับ เมื่อถึงกำหนดก็จะมีการแห่แหนองค์ผ้าป่ามาด้วยขบวนเถิดเทิงกลองยาวหรือแตรวง เป็นที่ครึกครื้น สนุกสนาน ยิ่งถ้าเป็นผ้าป่าสามัคคีต่างเจ้าภาพ ต่างแห่มาพบกันที่วัด จนกลายเป็นมหกรรมย่อยๆ มีการละเล่นพื้นบ้าน หรือร่วมร้องรำทำเพลง ร่วมรำวง กันเป็นที่สนุกสนาน บางทีก่อนวันทอดก็จะให้มีมหรสพฉลองที่บ้านของเจ้าภาพ

ลำดับขั้นตอนในพิธีทอดผ้าป่า

การทอดผ้าป่า เมื่อถึงวัดที่จะทอดแล้ว ก็จัดสถานที่ตั้งองค์ผ้าป่าและเครื่องบริวาร เช่น จัดตั้งไว้ข้างพระอุโบสถ เพื่อจะได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วย เมื่อจัดตั้งโดยนำผ้าป่าไปวางต่อหน้าภิกษุสงฆ์เรียบร้อยแล้ว ถ้าหากไม่มีพระภิกษุมาชักผ้าบังสุกุลในขณะนั้น ก็ไม่ต้องกล่าวคำถวาย แต่ถ้ามีพระสงฆ์รูปหนึ่งผู้ได้รับฉันทานุมัติจากหมู่สงฆ์ ลุกขึ้นเดินถือตาลปัตรมาชักผ้าบังสุกุลที่องค์ผ้าป่า เจ้าภาพและผู้ร่วมทอดผ้าป่าด้วยกัน ก็กล่าวคำถวายผ้าป่าพร้อมๆ กัน ดังนี้

คำบาลีถวายผ้าป่า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)
อิมานิ มะยัง ภันเต ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ
สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ ปังสุกูละจีวะรานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ
อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล
ข้าพเจ้าขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น (๓ จบ) ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์โปรดรับซึ่งผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ

เมื่อกล่าวคำถวายจบแล้ว พระสงฆ์ผู้ที่ได้รับฉันทานุมัติจากหมู่สงฆ์มาชักผ้าบังสุกุล และไวยาวัจกรของวัดจะมารับต้นผ้าป่าและเครื่องบริวารอื่นๆ ตลอดจนเงินหรือปัจจัยด้วย
โดยพระสงฆ์รูปนั้นก็กล่าวคำปริกรรมว่า “อิมัง ปังสุกุละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ” แปลเป็นใจความได้ว่า “ผ้าบังสุกุลผืนนี้เป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ย่อมตกเป็นของข้าพเจ้า”
ต่อจากนั้นพระสงฆ์จึงสวดอนุโมทนาในผลบุญ เจ้าภาพและผู้ร่วมทอดผ้าป่าด้วยกัน ต่างก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุพพการี เป็นต้น ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดผ้าป่าเพียงนี้

ข้อสำคัญในการทอดผ้าป่าคือ การทอดผ้าป่านั้นไม่เป็นการถวายแก่พระภิกษุที่เฉพาะเจาะจง ถ้านำไปถวายเฉพาะเจาะจงพระภิกษุรูปนั้นรูปนี้ก็ไม่เป็นการทอดผ้าป่า

อานิสงส์ของการทอดผ้าป่า
๑. เป็นการสงเคราะห์พระสงฆ์ให้สะดวกด้วยปัจจัยสี่ หรือสิ่งที่จำเป็นในการครองสมณเพศ มีจีวร หรือผ้านุ่งห่ม เป็นต้น
๒. เป็นการช่วยเหลือทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อพระสงฆ์ได้รับความสะดวกตามสมควรก็จะได้เป็นกำลังสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
๓. ได้ชื่อว่าเป็นการถวายทานแด่ท่านผู้ทรงศีล ซึ่งนับเป็นการบูชาท่านผู้ทรงศีล-บูชาท่านผู้ควรบูชา และเป็นทานที่มีคุณค่าสูง
๔. เป็นการอบรมจิตใจของผู้บริจาคให้มีการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม คือ พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นหลักทางจิตใจของประชาชนในชาติสืบไป
๕. เป็นการส่งเสริมความมีสามัคคีธรรมของหมู่คณะ
๖. เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีความมั่นคง เป็นปึกแผ่นสืบไป

ข้อมูลจาก : เว็บลานธรรมจักร
ภาพ : สินค้าจากเจริญพรสังฆภัณฑ์












วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ร้านเจริญพรสังฆภัณฑ์ออกรายการ"""กบนอกกะลา""

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา ร้านเจริญพรสังฆภัณฑ์ ได้รับเกียรติจากรายการ """ กบนอกกะลา """ ออกอากาศทางช่อง 9 ทุก วันศุกร์ 20.30 น. มาถ่ายทำรายการที่ร้านเจริญพร ในชื่อตอน " เส้นใยศรัทธา มหากฐิน " โดยตอนนี้จะออกอากาศในวันศุกร์ ที่ 7 พฤศจิกายน ขอเชิญทุกท่านติดตามชม

รายละเอียดเพิ่มเติม ที่ เว็บไซต์ กบนอกกะลา









ภัทราพร สังข์พวงทอง
วันเกิด: 31 พฤษภาคม 2513
ประวัติการศึกษา:


มัธยมปลาย โรงเรียน หอวัง ปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร


ประวัติการทำงาน:
2535
ฝ่ายการตลาด บ. Z FREQUENCY จำกัด ผลิตรายการวิทยุ คลื่น Z 88.5 FM พร้อมกับทำงานพิเศษ เขียนสคิรปต์รายการปกิณกะ เขียนข่าวและอ่านข่าววิทยุ คลื่น Z 88.5 FM.


2536
เป็นผู้สื่อข่าวการเมือง ศูนย์ข่าววิทยุเนชั่น



2538
ผลิตข่าวและรายการข่าว เนชั่นทีวี



กันยายน2538
ผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเขียนหนังสือเล่มที่ 1 “ กว่าจะเป็นนักข่าวมืออาชีพ “



กุมภาพันธ์2544
ถูกไล่ออกจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ในฐานะ “ 23 กบฎไอทีวี “เขียนหนังสือเล่มที่ 2 “ คำให้การกบฏไอทีวี “
2544
บรรณาธิการ และผู้ดำเนินรายการข่าวสถานีวิทยุ FM . 101 รับจ้างเขียนบทและผลิตรายการโทรทัศน์ เช่น รายการคนไทยตัวอย่าง UB



2545
จบปริญญาโท วารสารศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาบริหารสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



2545-2546
อาจารย์พิเศษ สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา ,สถาบันราชภัฏจันทรเกษม , ม. เกริก . ม.รังสิต ฯลฯรับจ้างเขียนบทและผลิตรายการโทรทัศน์ เช่น รายการคนไทยตัวอย่าง UBC 7 , รายการเมืองไทยรายวัน ช่อง 9 จัดรายการวิทยุ สถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน FM.96.0



2546
Creative รายการเจาะใจ บ. JSL จำกัด จัดรายการวิทยุ สถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน FM.96.0เขียนหนังสือเล่มที่ 3 “ ร้อยเรื่องราวร่วมด้วยช่วยกัน”



2547-ปัจจุบัน
คนเดินเรื่อง รายการ คนค้นคน บ. ทีวีบูรพา จำกัดจัดรายการวิทยุ สถานีวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน FM.96.0



2548-2549
ครีเอทีพและผู้ดำเนินรายการ “กบนอกกะลา”ผู้ดำเนินรายการร่วมด้วยช่วยกัน FM. 96.0 ทางสถานีโทรทัศน์ Modernine TV




วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

พิธีทอดกฐิน

การทอดกฐินเป็นกาลทาน คือ ปีเดียวทำได้เฉพาะช่วงแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน 12

ตำนานบุญกฐิน

ครั้งพุทธกาล มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎกกฐินขันธกะว่า ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ 30 รูป ซึ่งถือธุดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล จึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้นพอถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ 6 โยชน์ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปมิได้ต้องจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตตามพระวินัยบัญญัติ ขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต เกิดความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ดังนั้นพออกพรรษาปวารณาแล้วก็รีบเดินทาง แต่ระยะนั้นมีฝนตกมากหนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกต้องลุยมาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถีได้เข้าเฝ้าสมความประสงค์
พระพุทธเจ้าจึงมีปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้นเรื่องการจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกตและการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลถึงความตั้งใจ ความร้อนรนกระวนกระวายและการเดินทางที่ลำบากให้ทรงทราบทุกประการ
พระพุทธเจ้าทรงทราบและเห็นความลำบากของภิกษุจึงทรงยกเป็นเหตุและมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐินได้ และเมื่อกรานกฐินแล้วจะได้รับอานิสงส์ตามที่กำหนดในพระวินัยถึง 5 ประการคือ

1. อยู่ปราศจากไตรจีวรได้ จะไปค้างคืนที่ไหน ไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับก็ได้ ไม่ต้องอาบัติ
2. จะไปไหนมาไหน ไม่ต้องบอกลาก็ได้ ไม่ต้องอาบัติ
3. ฉันคณะโภชน์ได้ ไม่ต้องอาบัติ
4.ก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
5.จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอทั้งได้โอกาสขยายเขตจีวรกาล ให้ยาวออกไปอีกจนถึงกลางเดือน 4



ผู้ประสงค์จะทอดกฐินจะทอดจะทำอย่างไร
พุทธศาสนิกชนทั่วไป ย่อมถือกันว่า การทำบุญทอดกฐินเป็นกุศลแรง เพราะเป็นกาลทาน ทำได้เพียงปีละ 1 ครั้งและต้องทำในกำหนดเวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้นถ้ามีความเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐินบ้างแล้ว พึ่งปฏิบัติดังต่อไปนี้

จองกฐิน
เมื่อจะไปจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว พึงไปมนัสการสมภารเจ้าวัดนั้น กราบเรียนแก่ท่านว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น เพื่อให้รู้ทั่ว ๆ กัน การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อให้ได้ทอดวัดที่ตนต้องการ หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน นี้กล่าวสำหรับวัดราษฎร์ ซึ่งราษฎรมีสิทธิจองได้ทุกวัด แต่ถ้าวัดนั้นเป็นวัดหลวง อันมีธรรมเนียมว่าต้องได้รับกฐินหลวงแล้ว ทายกนั้น ครั้นกราบเรียนเจ้าอาวาสท่านแล้ว ต้องทำหนังสือยื่นต่อกองสัมฆการีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาง ครั้นคำอนุญาตตกไปถึงแล้ว จึงจะจองได้

เตรียมการ
ครั้นจองกฐินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้ว จะทอดกฐินในวันใด ก็กำหนดให้แน่นอน แล้วกราบเรียนให้เจ้าวัดท่านทราบวันกำหนดนั้น ถ้าเป็นอย่างชนบท สมภารเจ้าวัด ก็บอกติดต่อกับชาวบ้านว่าวันนั้นว่านี้เป็นวันทอดกฐิน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาอาหารไว้เลี้ยงพระ และเลี้ยงผุ้มาในการกฐิน
ครั้นกำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามแต่มีศรัทธามากน้อย (ถ้าจัดเต็มที่มักมี 3 ไตร คือ องค์ครอง 1 ไตร คู่สวดองค์ละ 1 ไตร)

วันงาน
พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น 2 วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา
รุ่งขึ้นเป็นที่วัดทอด ถ้าไปทางบก ก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่งทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐิน จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระ ถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ ก็สุดแต่กาละเทศะแห่งท้องถิ่น

อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็น ก็แห่งองค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลองรุ่งขึ้น เลี้ยงพระเช้าแล้ว ทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล

การถวายผ้ากฐิน
การถวายผ้ากฐินนั้น คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้ (คำถวายผ้ากฐินจะกล่าวต่อไป)



ของที่ใช้ในพิธีทอดกฐิน

กฐินที่นำไปทอด ท่านผู้ใดมีศรัทธาจะทอดกฐิน ณ วัดใด ก็ให้ทำใบปวารณาจองกฐินติดใบบอกไว้ ณ เขตวัดนั้นๆ เมื่อถึงเวลากำหนดก็นำผ้ากฐิน บางครั้งเรียกว่า ผ้าที่เป็นองค์กฐิน ซึ่งจะเป็นผืนเดียวก็ได้ หลายผืนก็ได้ เป็นผ้าขาวซึ่งยังมิได้ตัด ก็ตัดออกเป็นชิ้นๆ พอที่จะประกอบเข้าเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ทำเสร็จแล้วยังมิได้ย้อมหรือย้อมแล้วก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งจัดเป็นองค์กฐิน


โดยในปัจจุบันนิยมใช้ผ้าไตรจีวรครบ 3 ชุด นำไปทอด ณ วัดที่ได้จองไว้นั้น

นอกจากองค์กฐินแล้ว เจ้าภาพจะศรัทธาถวายของอื่นๆ ไปพร้อมกับองค์กฐินเรียกว่า บริวารกฐิน ตามที่นิยมกันประกอบด้วยปัจจัย 4 คือ

1. เครื่องอาศัยของพระภิกษุสามเณร มี ไตร จีวร บริขารอื่นๆ ที่จำเป็น

2. เครื่องใช้ประจำปี มีมุ้ง หมอน กลด เตียง ตั่ง โต๊ะ เก้าอี้ โอ่งน้ำ กระถาง กระทะ กระโถน เตา ภาชนะสำหรับใส่อาหารคาวหวาน

3. เครื่องซ่อมเสนาสนะ มี มีด ขวาน สิ่ว เลื่อย ไม้กวาด จอบ เสียม

4. เครื่องคิลานเภสัช มียารักษาโรค ยาสีฟัน แปรงสีฟัน อุปกรณ์ซักล้าง เป็นต้น

5. หรือจะมีอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวมานี้ก็ได้ ขอให้เป็นของที่สมควรแก่พระภิกษุ สามเณร

หากจะมีของที่ระลึกสำหรับแจกจ่ายแก่คนที่อยู่ในวัดหรือคนที่มาร่วมงานกฐินด้วยก็ได้ สุดแต่กำลังศรัทธาและอัธยาศัยไมตรีของเจ้าภาพ

นอกจากนั้นยังมีธรรมเนียมที่เจ้าภาพผู้ทอดกฐินจะต้องมี ผ้าห่มพระประธานอีกหนึ่งผืน เทียนสำหรับจุดในเวลาที่พระภิกษุสวดปาติโมกข์ ที่เรียกสั้นๆ ว่า เทียนปาติโมกข์ จำนวน 24 เล่ม และมีธงผ้าขาวเขียนรูปจระเข้ หรือสัตว์น้ำอย่างอื่น เช่น ปลา นางเงือก สำหรับปักหน้าวัด (การปักธงนี้เป็นเครื่องหมายให้ทราบว่าวัดนั้นๆ ได้รับกฐินแล้ว และอนุโมทนาร่วมกุศลด้วยได้


ตัวอย่างของที่ใช้ในพิธีทอดกฐิน

๑.องค์กฐิน (พานแว่นฟ้า ครอบไตร และผ้าไตรจีวร) 3ชุด


๒.บาตรครบชุด
๓ .ตาลปัตร + ที่ตั้งตาลปัตร
๔. ถุงย่าม , สัปทน ๕. หมอน , มุ้ง ,ที่นอนพระ , อาสนะ ,เสื่อ
๖. ธงมัจฉา - จระเข้

ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฎหลักฐาน และข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ
1. ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้น ก็เคลี่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงามทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัดและภายหลัย คงหวั่นจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
2. อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้

๗.เครื่องโยธา
๘.ชุดกาน้ำชา ปิ่นโต ช้อนส้อม จาน
๙.เทียนปาฎิโมกข์
๑๐ .สายสิญจน์
๑๑. หนังสือกฐิน
๑๒.ของ อื่น ๆ ที่เห็นสมควรแก่ภิกษุสามเณรตามกำลังศรัทธา

คำถวายกฐิน
คำถวายภาษาบาลี แบบที่ 1
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน)

อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

ทุติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

ตะติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์แม้คำรบสอง ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์แม้คำรบสาม ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์


คำถวายภาษาบาลี แบบที่ 2
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน)

อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

ทุติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

ตะติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

สาธุ โร ภันเต อิมัง สะปริวารา กะฐินะทุสสัง ปฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์แม้คำรบสอง ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์แม้คำรบสาม ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้ากฐินทั้งบริวารนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญฯ

คำถวายภาษาบาลี แบบที่ 3
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน)

อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

สาธุ โน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง ปะฏิคคันหาตุปะฏิคคเหตะวา จะ

อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับบริวารนี้ ครั้นรับแล้วจงกรานกฐินด้วยผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญฯ


ข้อมูลจาก : ประตูสุ่อีสาน

รูปภาพ : ภาพสินค้าจากร้านเจริญพรสังฆภัณฑ์