: พิธีทางพุทธศาสนา: พิธีทอดกฐิน

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

พิธีทอดกฐิน

การทอดกฐินเป็นกาลทาน คือ ปีเดียวทำได้เฉพาะช่วงแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน 12

ตำนานบุญกฐิน

ครั้งพุทธกาล มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎกกฐินขันธกะว่า ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ 30 รูป ซึ่งถือธุดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล จึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้นพอถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ 6 โยชน์ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปมิได้ต้องจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตตามพระวินัยบัญญัติ ขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต เกิดความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ดังนั้นพออกพรรษาปวารณาแล้วก็รีบเดินทาง แต่ระยะนั้นมีฝนตกมากหนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกต้องลุยมาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถีได้เข้าเฝ้าสมความประสงค์
พระพุทธเจ้าจึงมีปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้นเรื่องการจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกตและการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลถึงความตั้งใจ ความร้อนรนกระวนกระวายและการเดินทางที่ลำบากให้ทรงทราบทุกประการ
พระพุทธเจ้าทรงทราบและเห็นความลำบากของภิกษุจึงทรงยกเป็นเหตุและมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐินได้ และเมื่อกรานกฐินแล้วจะได้รับอานิสงส์ตามที่กำหนดในพระวินัยถึง 5 ประการคือ

1. อยู่ปราศจากไตรจีวรได้ จะไปค้างคืนที่ไหน ไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับก็ได้ ไม่ต้องอาบัติ
2. จะไปไหนมาไหน ไม่ต้องบอกลาก็ได้ ไม่ต้องอาบัติ
3. ฉันคณะโภชน์ได้ ไม่ต้องอาบัติ
4.ก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
5.จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอทั้งได้โอกาสขยายเขตจีวรกาล ให้ยาวออกไปอีกจนถึงกลางเดือน 4



ผู้ประสงค์จะทอดกฐินจะทอดจะทำอย่างไร
พุทธศาสนิกชนทั่วไป ย่อมถือกันว่า การทำบุญทอดกฐินเป็นกุศลแรง เพราะเป็นกาลทาน ทำได้เพียงปีละ 1 ครั้งและต้องทำในกำหนดเวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้นถ้ามีความเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐินบ้างแล้ว พึ่งปฏิบัติดังต่อไปนี้

จองกฐิน
เมื่อจะไปจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว พึงไปมนัสการสมภารเจ้าวัดนั้น กราบเรียนแก่ท่านว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น เพื่อให้รู้ทั่ว ๆ กัน การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อให้ได้ทอดวัดที่ตนต้องการ หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน นี้กล่าวสำหรับวัดราษฎร์ ซึ่งราษฎรมีสิทธิจองได้ทุกวัด แต่ถ้าวัดนั้นเป็นวัดหลวง อันมีธรรมเนียมว่าต้องได้รับกฐินหลวงแล้ว ทายกนั้น ครั้นกราบเรียนเจ้าอาวาสท่านแล้ว ต้องทำหนังสือยื่นต่อกองสัมฆการีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาง ครั้นคำอนุญาตตกไปถึงแล้ว จึงจะจองได้

เตรียมการ
ครั้นจองกฐินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้ว จะทอดกฐินในวันใด ก็กำหนดให้แน่นอน แล้วกราบเรียนให้เจ้าวัดท่านทราบวันกำหนดนั้น ถ้าเป็นอย่างชนบท สมภารเจ้าวัด ก็บอกติดต่อกับชาวบ้านว่าวันนั้นว่านี้เป็นวันทอดกฐิน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาอาหารไว้เลี้ยงพระ และเลี้ยงผุ้มาในการกฐิน
ครั้นกำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามแต่มีศรัทธามากน้อย (ถ้าจัดเต็มที่มักมี 3 ไตร คือ องค์ครอง 1 ไตร คู่สวดองค์ละ 1 ไตร)

วันงาน
พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น 2 วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา
รุ่งขึ้นเป็นที่วัดทอด ถ้าไปทางบก ก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่งทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐิน จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระ ถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ ก็สุดแต่กาละเทศะแห่งท้องถิ่น

อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็น ก็แห่งองค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลองรุ่งขึ้น เลี้ยงพระเช้าแล้ว ทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล

การถวายผ้ากฐิน
การถวายผ้ากฐินนั้น คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้ (คำถวายผ้ากฐินจะกล่าวต่อไป)



ของที่ใช้ในพิธีทอดกฐิน

กฐินที่นำไปทอด ท่านผู้ใดมีศรัทธาจะทอดกฐิน ณ วัดใด ก็ให้ทำใบปวารณาจองกฐินติดใบบอกไว้ ณ เขตวัดนั้นๆ เมื่อถึงเวลากำหนดก็นำผ้ากฐิน บางครั้งเรียกว่า ผ้าที่เป็นองค์กฐิน ซึ่งจะเป็นผืนเดียวก็ได้ หลายผืนก็ได้ เป็นผ้าขาวซึ่งยังมิได้ตัด ก็ตัดออกเป็นชิ้นๆ พอที่จะประกอบเข้าเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ทำเสร็จแล้วยังมิได้ย้อมหรือย้อมแล้วก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่งจัดเป็นองค์กฐิน


โดยในปัจจุบันนิยมใช้ผ้าไตรจีวรครบ 3 ชุด นำไปทอด ณ วัดที่ได้จองไว้นั้น

นอกจากองค์กฐินแล้ว เจ้าภาพจะศรัทธาถวายของอื่นๆ ไปพร้อมกับองค์กฐินเรียกว่า บริวารกฐิน ตามที่นิยมกันประกอบด้วยปัจจัย 4 คือ

1. เครื่องอาศัยของพระภิกษุสามเณร มี ไตร จีวร บริขารอื่นๆ ที่จำเป็น

2. เครื่องใช้ประจำปี มีมุ้ง หมอน กลด เตียง ตั่ง โต๊ะ เก้าอี้ โอ่งน้ำ กระถาง กระทะ กระโถน เตา ภาชนะสำหรับใส่อาหารคาวหวาน

3. เครื่องซ่อมเสนาสนะ มี มีด ขวาน สิ่ว เลื่อย ไม้กวาด จอบ เสียม

4. เครื่องคิลานเภสัช มียารักษาโรค ยาสีฟัน แปรงสีฟัน อุปกรณ์ซักล้าง เป็นต้น

5. หรือจะมีอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวมานี้ก็ได้ ขอให้เป็นของที่สมควรแก่พระภิกษุ สามเณร

หากจะมีของที่ระลึกสำหรับแจกจ่ายแก่คนที่อยู่ในวัดหรือคนที่มาร่วมงานกฐินด้วยก็ได้ สุดแต่กำลังศรัทธาและอัธยาศัยไมตรีของเจ้าภาพ

นอกจากนั้นยังมีธรรมเนียมที่เจ้าภาพผู้ทอดกฐินจะต้องมี ผ้าห่มพระประธานอีกหนึ่งผืน เทียนสำหรับจุดในเวลาที่พระภิกษุสวดปาติโมกข์ ที่เรียกสั้นๆ ว่า เทียนปาติโมกข์ จำนวน 24 เล่ม และมีธงผ้าขาวเขียนรูปจระเข้ หรือสัตว์น้ำอย่างอื่น เช่น ปลา นางเงือก สำหรับปักหน้าวัด (การปักธงนี้เป็นเครื่องหมายให้ทราบว่าวัดนั้นๆ ได้รับกฐินแล้ว และอนุโมทนาร่วมกุศลด้วยได้


ตัวอย่างของที่ใช้ในพิธีทอดกฐิน

๑.องค์กฐิน (พานแว่นฟ้า ครอบไตร และผ้าไตรจีวร) 3ชุด


๒.บาตรครบชุด
๓ .ตาลปัตร + ที่ตั้งตาลปัตร
๔. ถุงย่าม , สัปทน ๕. หมอน , มุ้ง ,ที่นอนพระ , อาสนะ ,เสื่อ
๖. ธงมัจฉา - จระเข้

ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐินแล้ว ยังไม่ปรากฎหลักฐาน และข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ
1. ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้น ก็เคลี่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงทิวประดับประดาให้สวยงามทั้งที่องค์กฐิน ทั้งที่บริเวณวัดและภายหลัย คงหวั่นจะให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน ดังนั้น จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
2. อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้

๗.เครื่องโยธา
๘.ชุดกาน้ำชา ปิ่นโต ช้อนส้อม จาน
๙.เทียนปาฎิโมกข์
๑๐ .สายสิญจน์
๑๑. หนังสือกฐิน
๑๒.ของ อื่น ๆ ที่เห็นสมควรแก่ภิกษุสามเณรตามกำลังศรัทธา

คำถวายกฐิน
คำถวายภาษาบาลี แบบที่ 1
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน)

อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

ทุติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

ตะติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์แม้คำรบสอง ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์แม้คำรบสาม ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์


คำถวายภาษาบาลี แบบที่ 2
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน)

อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

ทุติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

ตะติยัมปิ อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

สาธุ โร ภันเต อิมัง สะปริวารา กะฐินะทุสสัง ปฏิคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์แม้คำรบสอง ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์แม้คำรบสาม ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายซึ่งผ้ากฐินกับบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้ากฐินทั้งบริวารนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญฯ

คำถวายภาษาบาลี แบบที่ 3
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 หน)

อิมัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง สังฆัสสะ โอโณ ชะยามะ

สาธุ โน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง ปะฏิคคันหาตุปะฏิคคเหตะวา จะ

อิมินา ทุสเสนะ กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับบริวารนี้ ครั้นรับแล้วจงกรานกฐินด้วยผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญฯ


ข้อมูลจาก : ประตูสุ่อีสาน

รูปภาพ : ภาพสินค้าจากร้านเจริญพรสังฆภัณฑ์

ไม่มีความคิดเห็น: