คำถามเรื่องการจัดวางพานพุ่ม สีเงิน-ทอง ไว้ด้านซ้ายหรือขวานั้น เป็นเรื่องทียังไม่มีข้อสรุป บ้างจัดวางสีทองไว้ด้านขวา แต่บ้างจัดวางข้างซ้าย และบุคคลอื่น ๆ เมื่อเห็นมักจะจัดตาม ๆ ที่ตนเองเคยเห็นผู้อื่นจัดกันมา โดยแท้จริงแล้วพานพุ่ม ไม่ได้มีเพียงแค่ 2 สี โดยแต่เดิมพานพุ่มมัก ทำด้วยดอกไม้สด มีสีสันต่าง ๆ ตาม สีของดอกไม้และมักจะมีสีเหมือนกันเป็นคู่ ต่อมา พานพุ่ม เริ่มมีการพัฒนา ทำเป็นผ้า เป็นโลหะ จึงเริ่มมีพานพุ่ม สีทอง-เงิน อันเป็น จุดเริ่มต้นของ คำถามดังกล่าว โดยสรุป ในความเห็นของผู้เขียน สามารถวางสีเงิน-ทอง วางไว้ด้านไหนก็ได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม
เครื่องทองน้อย
เครื่องทองน้อยนั้นเป็นเครื่องนมัสการอย่างเล็กที่สุด และเป็นเครื่องบูชาอย่างไทยมาแต่เดิม ประกอบด้วยพานรอง ๑ พุ่มดอกไม้ ๓ เชิงธูป ๑ และเชิงเทียน ๑ เป็นเครื่องนมัสการสำหรับบูชาเฉพาะปูชนียวัตถุ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระบรมอัฐิ พระบรมราชานุสาวรีย์ ฯลฯ รวมไปถึงเวลาที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงธรรม ตลอดถึงเวลาให้พระบรมศพหรือพระบรมอัฐิทรงธรรมก็ทรงใช้เครื่องนมัสการชนิดนี้ทอดอยู่หน้าที่ประทับ หรือหน้าพระบรมโกศ เพื่อเป็นเครื่องบูชาธรรมด้วย
เครื่องทองน้อยนี้เป็นเครื่องนมัสการที่บุคคลทั่วไปก็ใช้ได้ เช่น ในเวลาบุคคลธรรมดาฟังพระธรรมเทศนาในงานต่างๆ ที่ตรงหน้าของบุคคลผู้เป็นประธานก็จะมีเครื่องทองน้อยตั้งไว้สำหรับจุดบูชาธรรมเช่นเดียวกับงานหลวง หรือในงานศพ เวลาจะให้ศพฟังธรรม เจ้าภาพก็จะจัดเครื่องทองน้อยไว้หน้าศพเช่นกัน
ธรรมเนียมการตั้งเครื่องทองน้อยนั้นอาจเป็นที่สับสน แต่อาจสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ได้ กล่าวคือ เราจะบูชาอะไร ให้หันพุ่มดอกไม้ไปทางปูชนียวัตถุนั้นๆ เช่น เราจะบูชาศพ เราต้องหันดอกไม้ไปทางศพ ให้หันธูปเทียนมาทางเรา ถ้าจะให้ศพฟังพระอภิธรรมหรือฟังพระธรรมเทศนา ก็ให้หันพุ่มดอกไม้ออก แล้วหันธูปเทียนเข้าทางโกศหรือหีบศพ
บายศรี
บายศรี หมายถึง เครื่องเชิญขวัญหรือรับขวัญ ทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทง เป็นชั้น ๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลำดับ เป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรีและมีไข่ขวัญเสียอยู่บนยอดบายศรี มีหลายอย่าง เช่น บายศรีตอง บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่ ( ภาษาเขมร บาย = ข้าว + ศรี = สิริ หมายความว่า ข้าวอันเป็นสิริหรือข้าวขวัญ )
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น